อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
คัดมาจาก www.thaimedico.com ขอบคุณ อ.นพ.วิทยา ศรีดามา ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบต่อมไร้ท่อ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
นพ.วิทยา ศรีดามา
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาหารผู้ป่วยเบาหวานนั้น อาจแบ่งง่ายๆ เป็น 3 ประเภทคือ

ประเภทที่ 1 ห้ามรับประทาน
ได้แก่ อาหารน้ำตาลและขนมหวาน เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา ลอดช่อง อาหารเชื่อม เค้ก ช๊อกโกแลต ไอศกรีม และขนมหวานอื่นๆ

เครื่องดื่ม เครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม น้ำเขียว น้ำแดง โอเลี้ยง เครื่องดื่มชูกำลัง นมข้นหวาน น้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้ซึ่งมีน้ำตาลประมาณ 8-15% เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นน้ำมะเขือเทศ มีน้ำตาลประมาณ 1%

ควรดื่ม น้ำเปล่า น้ำชาไม่ใส่น้ำตาล

ถ้าดื่มกาแฟ ควรดื่มกาแฟดำ ไม่ควรใส่น้ำตาล นมข้นหวาน หรือครีมเทียม (เช่น คอฟฟี่เมท ซึ่งประกอบด้วนน้ำตาลกลูโคส 58% น้ำมันปาล์ม 33%) ควรใส่นมจืดพร่องไขมัน หรือน้ำตาลเทียมแทน

ถ้าดื่มนม ควรดื่มนมจืดพร่องไขมัน นมเปรี้ยวส่วนใหญ่ไม่ใช่นมพร่องไขมัน และมีน้ำตาลอยู่ด้วยประมาณ 15% เป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับนมถั่วเหลือง

ถ้าดื่มน้ำอัดลม ควรดื่มน้ำอัดลมที่ใส่น้ำตาลเทียม เช่น เป๊ปซี่แมก ไดเอทโค้ก เป็นต้น

น้ำตาลเทียม
น้ำตาลเทียมที่มีในปัจจุบันมี 3 ประเภท คือ

1 แอสปาแทม ชื่อการค้าว่า อีควล (Equal) หรือไดเอด จำหน่ายเป็นเม็ด และเป็นซอง แอสปาแทมเป็นสารอาหารคือ เป็นกรดอะมิโนเอซิด (amino acid ) มีสารอาหารต่ำ ใน 1 เม็ด มี 2 กิโลแคลลอรี่ ใน 1 ซองมี 4 กิโลแคลลอรี่ จึงรับประทานได้ แต่ไม่มากเกินไป เป็นส่วนผสมในน้ำอัดลม (เป็ปซี่แมก ไดเอทโค้ก) คำเตือนข้างกล่อง น้ำตาลเทียม และกระป๋องน้ำอัดลมว่า ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่เป็นฟีนิลคีโตนยูเรีย (phenylketonuria) โรคนี้พบน้อยในเมืองไทย และถ้าเป็นโรคนี้จะได้รับการวินิจฉัยโรคตั้งแต่วัยเด็ก

2 แซคคารีน ( saccharin ) หรือขัณฑสกร ชื่อการค้าว่า สวีทแอนด์โลว์ ( sweet and low ) ไม่มีสารอาหาร มีการศึกษาว่าเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในหนู แต่ต้องใช้ปริมาณสูงมาก ในคนยังไม่มีหลักฐานว่าทำให้เกิดมะเร็ง 3 น้ำตาลฟรุคโตส หรือ ซอร์บิทอล เป็นน้ำตาลที่ผสมอยู่ในช็อกโกแลตเบาหวาน แยมเบาหวาน เป็นต้น หรือจำหน่ายเป็นผงในกระป๋อง น้ำตาลชนิดนี้เป็นน้ำตาลจากผลไม้ มีสารอาหารเท่ากับน้ำตาล ไม่ควรรับประทานน้ำตาลเทียมชนิดนี้ เพราะอาจเข้าใจผิดว่าไม่มีสารอาหาร และส่วนใหญ่ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานผลไม้ อยู่แล้ว

ประเภทที่ 2 รับประทานได้ไม่จำกัดจำนวน

ได้แก่ผักใบเขียวทุกชนิด เช่นผักกาด ผักคะน้า ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง ถั่วงอก ทำเป็นอาหาร ตัวอย่าง เช่น ต้มจืด ยำ สลัด ผัดผัก เป็นต้น อาหารเหล่านี้มีสารอาหารต่ำ นอกจากนั้นยังมีกากอาหารที่เรียกว่า ไฟเบอร์ ซึ่งทำให้การดูดซึมน้ำตาลช้าลง

ประเภทที่ 3 รับประทานได้แต่จำกัดจำนวน

ได้แก่ อาหารพวกแป้ง (คาร์โบไฮเดรต) ปัจจุบันอาหารพวกแป้งนั้นไม่จำกัดจำนวน ถ้าผู้ป่วยไม่อ้วนมาก เนื่องจากลดอาหารจำพวกแป้ง ทำให้ต้องเพิ่มอาหารพวกไขมัน ซึ่งอาจเป็นผลให้ระดับไขมันสูง และเพิ่มเนื้อสัตว์ ทำให้หน้าที่ของไตเสียไปเร็วขึ้น ในผู้ป่วยที่มีโรคไตร่วมด้วย ผลไม้นั้นต้องจำกัดจำนวน ควรรับประทานพร้อมกับอาหารครั้งละ 1 ส่วนตามตารางแลกเปลี่ยน

เนื่องจากอาหารกลุ่มพวกแป้งหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะอาหารไทย ดังนั้นจึงควรเลือกรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรต ที่มีคุณภาพ โดยคำนึงถึงปัจจัย 2 อย่างคือ

1.ปริมาณไฟเบอร์ (เส้นใยอาหาร)

2.ไกลซีมิค อินเดกซ์ (glycemic indix)

ดังได้กล่าวไว้แล้วว่า อาหารไฟเบอร์ ทำให้การดูดซึมอาหารช้าลง จึงควรรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตที่มีไฟเบอร์สูง ควรได้รับไฟเบอร์ทั้งหมดประมาณ 40 กรัม/วัน