ตรวจมะเร็งได้จากการตรวจเลือด

บางครั้งเมื่อตรวจสุขภาพคนไข้ มักจะโดนถามเสมอว่า “เอ หมอ มะเร็งนี่มันตรวจได้จากเลือดเหรอ” หรือไม่งั้นก็กลับกันคือ “อ้าว หมอ ไม่ตรวจเลือดเช็ค PSA เหรอ มันบอกถึงมะเร็งต่อมลูกหมากนะ” ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ ” หมอ เอาแค่เจาะเลือดตรวจมะเร็งทุกตัวนะ อย่างอื่นไม่ต้อง !. ”

ทราบหรือไม่ว่า tumor markers หรือการตรวจสารมะเร็งในเลือดมีหลายอย่าง เช่น PSA , CEA มาดูกันว่า เราจะทำความเข้าใจกับมันว่าอย่างไร เมื่อไรต้องตรวจ เชื่อได้แค่ไหน อย่าให้ข้อมูลที่ผิดพลาดมารบกวนการตัดสินใจของคุณ ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา

Tumor markers หรือสารที่ตรวจพบในเลือดที่อาจบ่งบอกถึงการมีมะเร็ง การตรวจสารเหล่านี้ อาจตรวจจากเลือด ปัสสาวะ หรือสกัดจากเนื้อเยื่อ
มะเร็งหลายชนิด ก่อให้เกิดสารเหล่านี้ ซึ่งสารเหล่านี้อาจเกิดจากตัวมะเร็งเอง หรือเกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อเซลมะเร็ง
การตรวจTumor marker จะมีประโยชน์มาก ถ้าได้ทำร่วมกับการตรวจร่างกายและการตรวจอย่างอื่น เพื่อการวินิจฉัย หรือวางแผนการรักษาโรค
การตรวจสาร Tumor marker เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยมะเร็ง เนื่องจาก
สารเหล่านี้อาจสูงได้ในคนปกติ
สารเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องสูงในมะเร็งทุกราย โดยเฉพาะในระยะแรก ๆ
สารเหล่านี้ อาจไม่เฉพาะสำหรับมะเร็งนั้น ๆ อาจเกิดจากมะเร็งชนิดอื่นได้
การตรวจสารมะเร็ง Tumor marker จึงมีประโยชน์คือ
ช่วยในการวินิจฉัย
ช่วยในการวางแผนการรักษา
ช่วยบอกว่ามะเร็งหมด และมีการกลับมาเป็นใหม่หรือไม่หลังรักษาแล้ว
1.PSA Prostatic specific antigen
PSA เป็นสารที่แพทย์ตรวจในกรณีที่สงสัยมะเร็งต่อมลูกหมาก ปกติในชายจะมีสารนี้อยู่ในปริมาณต่ำ เนื่องจากสร้างโดยต่อมลูกหมาก และอาจสูงได้จากภาวะอื่น ๆ นอกเหนือจากมะเร็ง เช่น ต่อมลูกหมากอักเสบ หรือต่อมลูกหมากโต
ข้อมูลล่าสุด ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่า การตรวจ PSA ในชายที่สูงอายุ จะมีประโยชน์ช่วยช่วยชีวิตชายจากมะเร็งได้มากกว่าปกติเท่าไร เพราะบางครั้ง มันอาจไม่สูงในระยะแรก ซึ่งบางครั้งจากการตรวจจากการคลำต่อมลูกหมาก แพทย์อาจเจอก่อนที่ระดับ PSA จะสูงเสียอีก
2. Prostatic Acid Phosphatase (PAP)
เช่นกัน ในภาวะปกติเราก็เจอสูงได้ เช่น ต่อมลูกหมากโต และอักเสบ และภาวะอื่น ๆ นอกจากมะเร็งต่อมลูกหมาก เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว ต่อมน้ำเหลือง โรคตับ กระดูกพรุน เป็นต้น
3.CA125
สร้างจากหลายที่ แต่จะมากในเซลของรังไข่ จึงใช้ตรวจมะเร็งรังไข่ แต่โดยทั่วไป เราจะไม่ใช้ในการวินิจฉัย แต่จะช่วยในการรักษา หรือติดตามผลการรักษาว่ามะเร็งกลับคืนหรือไม่เช่นกัน
CA125 อาจสูงได้ในภาวะอื่น ๆ เช่น มะเร็งมดลูก ปากมดลูก ตับอ่อน ตับ ลำไส้ใหญ่ เต้านม ปอด และระบบทางเดินอาหาร หรืออาจเกิดในภาวะที่ไม่ใช่มะเร็งเช่น มดลูกอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ช่องท้องอักเสบ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ ตั้งครรภ์ หรือขณะมีประจำเดือน
4.CEA หรือ Carcinoembrionic antigen
ก็พบได้ในภาวะปกติ สร้างจากลำไส้ ใช้ตรวจภาวะมะเร็งในลำไส้ เช่นกัน หน้าที่จริง ๆ ไม่ได้ใช้วินิจฉัย แต่ใช้ในการเตรียมการรักษา และตรวจภายหลังรักษาว่า มะเร็งหมด หรือกลับมาเป็นใหม่หรือไม่ โดยเฉพาะในกรณีที่มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีการแพร่กระจายไปแล้ว
CEA อาจสูงได้ในมะเร็งของ ต่อมน้ำเหลือง เมลาโนมา เต้านม ตับอ่อน กระเพาะ ปากมดลูก ไต กระเพาะปัสสาวะ ต่อมธัยรอยด์ ตับ และมะเร็งรังไข่
ยังพบ CEA สูงได้ในภาวะที่ไม่ใช่มะเร็งเช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ตับอ่อนอักเสบ โรคตับ สูบบุหรี่จัด
5.AFP หรือ Alpha fetoprotein
สร้างในภาวะปกติของทารกในครรภ์ พอคลอดจะสูงและลดระดับต่ำอย่างรวดเร็ว ใช้ดูในมะเร็งตับ การที่ AFP สูง บ่งว่าน่าจะมีมะเร็งที่ ตับ หรือจาก germ cell (เนื้อเยื่อที่จะพัฒนาเป็นไข่หรือสเปิร์ม-มะเร็งมักอยู่ที่อัณฑะ หรือรังไข่)
ภาวะอื่น ๆ ที่อาจเจอเช่น มะเร็งกระเพาะ ตับอักเสบ ตั้งครรภ์
6. HCG หรือ Human Chorionic Gonadotropin
ปกติ สร้างจากรก ในภาวะตั้งครรภ์ ซึ่งโดยปกติ เวลาตรวจการตั้งครรภ์ในปัสสาวะโดยใช้แผ่นจุ่ม ก็เป็นการตรวจ HCG นี่เอง
ใช้ตรวจการกลายเป็นมะเร็งบางชนิด เช่นมะเร็งของรก และการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก ในบางครั้งสูงได้ในภาวะอื่น ๆ เช่น มะเร็งรังไข่ อัณฑะ กระเพาะ ตับอ่อน และปอด อาจเจอในคนสูบกัญชา
7.CA 19-9
เจอในคนที่เป็นมะเร็งของลำใส้ใหญ่ และพบได้ในมะเร็งตับอ่อน และท่อทางเดินน้ำดี ในมะเร็งของตับอ่อน การตรวจพบ CA19-9 มักเจอในระยะท้าย ๆ
CA19-9 อาจเจอได้ในภาวะอื่น ๆ เช่น นิ่วในถุงน้ำดี ตับอ่อนอักเสบ ตับแข็ง
8. CA15-3
มักใช้ติดตามการรักษามะเร็งเต้านม เพราะจะขึ้นสูงในกรณีที่เป็นมากแล้ว พบน้อยมากที่จะขึ้นในระยะแรกของโรค
ภาวะอื่นที่ทำให้ระดับ CA15-3 สูง ได้แก่ มะเร็งรังไข่ ปอด ต่อมลูกหมาก หรือภาวะที่ไม่ใช่มะเร็งอื่น ๆ เช่น การอักเสบของมดลูก ตับอักเสบ ตั้งครรภ์
9. CA 27-29
เหมือนกับ CA15-3 คือตรวจในกรณีมะเร็งเต้านมระยะท้าย ๆ และมีประโยชน์ในการตรวจเป็นระยะ ๆ เพื่อตรวจการกลับมาเป็นใหม่ของมะเร็งภายหลังรักษา
10. LDH หรือ Lactate dehydrogenase
ไม่จำเพาะในมะเร็งชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนั้น ใช้ช่วย เฉย ๆ ว่ามีการสร้างเซลผิดปกติขึ้นมาในร่างกาย และช่วยในการติดตามการรักษามะเร็งบางชนิด เช่น ซาร์โคมา (Ewings Sarcoma) ลิมป์โฟมา(Non-Hodgekins-มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่ง)
11. Neuron specific Enolase (NSE)
ที่ใช้ประโยชน์คือในกรณีเป็น มะเร็งปอดชนิด non-small cell lung cancer และ neuroblastoma(มะเร็งของปมประสาท-เท้าแสนปม)

จากสรุป จะเห็นได้ว่า ไม่มี Tumor marker เดี่ยว ๆ ตัวไหนเลยที่จะบอกว่าเราเป้นมะเร็ง ต้องมีการวิเคราะห์อย่างอื่นร่วมเสมอ
อย่าให้ใครหลอกคุณ และถามแพทย์ที่ตรวจคุณเสมอ ว่ามีความรู้เกี่ยวกับ Tumor markers ดีเพียงใด
ที่มา National Cancer Institute Information

 

กรุณาสละเวลาให้คะแนนบทความนี้ครับ
1 Star2 Stars3 Stars4 Stars5 Stars (1 votes, average: 5.00 out of 5)

Loading...