โรคคอตีบ diphtheria

โรคคอตีบ หรือดิพทีเรีย ปัจจุบันนี้พบน้อยลงมากเพราะมีการฉีดวัคซีนให้กับเด็กทุกคน เรามารู้จักกับมันหน่อยดีกว่า ข้อมูลจากเอนไซโคลปีเดีย

คอตีบ/ดิฟทีเรีย (Diphtheria)
โรคคอตีบ หรือดิฟทีเรีย (Diphtheria) เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นเฉียบพลันและร้ายแรง พบได้ประปรายตลอดปี บางครั้งอาจพบระบาด ซึ่งมักเกิดในฤดูหนาวส่วนมากจะพบในเด็กอายุ 1-10 ปี

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อคอตีบซึ่งเป็นเชื้อแบคที่เรียที่มีชื่อว่าโครินแบคทีเรียมดิฟทีเรีย (Corynebacterium diphtheriae) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ส่วนมากจะติดต่อโดยการหายใจ ไอ หรือจามรดกัน
ระยะฟักตัว ประมาณ 1-7 วัน (เฉลี่ย 3 วัน)
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอเล็กน้อย แต่จะรู้สึกกลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน และมีท่าทางอ่อนเพลียมาก
ถ้ามีการอักเสบของกล่องเสียง ผู้ป่วยจะมีอาการไอเสียงแหบ หายใจเสียงดังครู้ป (stridor) หายใจลำบาก ตัวเขียว
สิ่งที่ตรวจพบ
ไข้ 38.5-39o ซ. หายใจหอบ คอบุ๋ม ชีพจรเร็ว
การตรวจคอ อาจพบแผ่นฝ้าสีขาวปนเทา (white grayish patch) ซึ่งแลดูคล้ายเศษผ้าสกปรกติดอยู่บนทอนซิล คอหอย และลิ้นไก่ ซึ่งเขี่ยออกยาก ถ้าฝืนเขี่ยจะทำให้มีเลือดออกได้
ต่อมน้ำเหลืองที่คอมักจะโต
บางรายอาจมีอาการคอบวมมาก คล้ายๆ คอวัวเรียกว่า อาการคอวัว (bull neck)
อาการแทรกซ้อน
ที่สำคัญคือเชื้อคอตีบ สามารถปล่อยสารพิษ (toxin) ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) และประสาทอักเสบ (neuritis) ได้
โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มักเกิดระหว่างวันที่ 10-14 ของการเจ็บป่วย (แต่อาจพบได้ระหว่างสัปดาห์แรกถึงสัปดาห์ที่ 6) ทำให้มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ) ถ้ารุนแรงอาจเกิดภาวะหัวใจวาย และอาจถึงตายอย่างเฉียบพลัน
ประสาทอักเสบ ทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นอัมพาต ผู้ป่วยอาจมีอาการกลืนลำบาก พูดเสียงขึ้นจมูก ขย้อนน้ำและอาหารออกทางจมูก หรืออาจมีอาการตาเหล่ เห็นภาพซ้อน หรืออาจทำให้แขนขาเป็นอัมพาตและชา อาการเหล่านี้อาจพบตั้งแต่สัปดาห์แรก จนกระทั่งสัปดาห์ที่ 3-6 อาการอัมพาตมักจะเป็นเพียงชั่วคราว และหายได้ในที่สุด
นอกจากนี้ ยังอาจทำให้มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ปอดอักเสบ ไตทำงานผิดปกติ (ตรวจพบสารไข่ขาวในปัสสาวะ ปัสสาวะออกน้อย) เป็นต้น
การรักษา
หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาลด่วน โดยอาจให้อีริโทรไมซิน ก่อน
มักจะวินิจฉัยโดยการนำหนองในลำคอไปตรวจย้อมดูเชื้อและเพาะเชื้อ อาจตรวจเลือด (พบเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ), ตรวจคลื่นหัวใจในรายที่สงสัยว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบร่วมด้วย
การรักษา ให้ยาต้านพิษคอตีบ (diphtheria antitoxin) และยาปฏิชีวนะ เช่น ฉีดเพนิซิลลินจี 1-1.5 แสนยูนิตต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน แบ่งฉีดทุก 4-6 ชั่วโมง หรือ อีริโทรไมซิน นาน 7-10 วัน
ในรายที่หายใจลำบาก อาจต้องเจาะคอช่วยหายใจ

ข้อแนะนำ
1. ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก และน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย ควรทำการกำจัดเสีย
2. เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือประสาทอักเสบแทรกซ้อน เมื่อกลับจากโรงพยาบาลแล้วควรระวังอย่าให้ร่างกายตรากตรำ จนกว่าจะปลอดภัย
3. พาเด็กที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไปพบแพทย์ เพื่อรับยาปฏิชีวนะ เช่น อีริโทรไมซิน กินป้องกันนาน 7 วัน
4. เชื้อคอตีบอาจทำให้เกิดแผลเรื้อรังที่ผิวหนังได้ ถ้าพบแผลเรื้อรังในคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยคอตีบ ก็อย่าลืมนึกถึงสาเหตุจากเชื้อคอตีบ
การป้องกัน
โรคนี้สามารถป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนดีพีที ตั้งแต่อายุ 2 เดือน ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนชนิดนี้อย่างทั่วถึง จึงพบโรคนี้ได้ค่อนข้างน้อย