โรคไตรั่วหรือเนโฟรติก โรคใกล้ชิดกับSLE

ใครที่มีอาการบวม กดบุ๋มตามขา หน้าบวม และปัสสาวะเป็นฟอง อาจทำให้สงสัยว่าเป็นโรคไตรั่ว(ไข่ขาว หรือโปรตีนอัลบูมินรั่วทางไต) ซึ่งสัมพันธ์กับโรคเอสแอลอี(โรคพุ่มพวง) และโรคเบาหวานในระยะท้ายๆ
โรคไตเนโฟรติก ( Nephrotic syndrome )
โรคไตเนโฟรติก เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก พบได้ในคนทุกวัย แต่พบมากในเด็กอายุ 1 – 5 ปี
มักเป็นเรื้อรังและมีโอกาสเป็นๆ หายๆ บ่อย ถือเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของโรคไตเรื้อรังชนิดหนึ่ง บางครั้งแพทย์อาจเรียกโรคนี้ว่า โรคไตเรื้อรัง
สาเหตุ

อาการเกิดเนื่องจากร่างกายมีการสูญเสียโปรตีนออกไปทางปัสสาวะ เพราะมีความผิดปกติของหน่วยไต ( glomerulus ) ซึ่งเป็นหน่วยเล็กๆ ที่ทำหน้าที่กรองปัสสาวะ ทำให้มีระดับโปรตีนในเลือดต่ำ จึงเกิดอาการบวมทั้งตัว
ผู้ป่วยส่วนมาก จะไม่ทราบสาเหตุของความผิดปกติอย่างแน่ชัด
บางรายอาจมีประวัติเป็นโรคหน่วยไตอักเสบ มาก่อน หรือพบร่วมกับเบาหวาน , เอสแอลอี ,โรคปวดข้อรูมาตอยด์ , ครรภ์เป็นพิษ , ความดันโลหิตสูงรุนแรง , โรคเรื้อน , ซิฟิสิส , มาลาเรีย , ตับอักเสบจากไวรัสบีหรือซี , การติดเชื้อเอชไอวี , มะเร็งเต้านม , มะเร็งต่อมน้ำเหลือง , มะเร็งเม็ดเลือดขาว , หรือแพ้พิษงูหรือผึ้งต่อย , แพ้สารหรือยาบางชนิด ( เช่น โพรเบเนซิด , แคปโทพริล , ไรแฟมพิซิน , ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช้สเตอรอยด์ , ลิเทียม , การเสพย์เฮโรอีน ) , หรือเกิดจากสารพิษโลหะหนัก ( เช่น ปรอท , แคดเมียม )
อาการ
มีอาหารบวมทั่วตัว ทั้งที่หน้า หนังตา ท้อง และ เท้า 2 ข้าง ซึ่งมักจะค่อยๆ เกิดเพิ่มขึ้นทีละน้อย ( มีเพียงส่วนน้อยที่อาจเกิดขึ้นฉับพลัน ) ผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นหนังตาบวมชัดเจนเวลาตื่นนอน ปัสสาวะสีใสเหมือนปกติ แต่จะออกน้อยกว่าปกติ
ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร แต่ไม่มีไข้ นอนราบได้ และมักจะเดินเหินและทำงานได้
สิ่งตรวจพบ
หน้าบวม หนังตาบวม เท้าบวมกดปุ๋ม และอาจมีท้องบวม (ท้องมาน) . ภาวะปอดบวมน้ำ
(pulmonary edema) ซึ่งฟังปอดมีเสียงกรอบแกรบ , ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด
(pleural effusion )
ตรวจปัสสาวะพบสารไข่ขาว ( albumin ) ขนาด 3+ ถึง 4+
ถ้าเป็นนานๆอาจมีอาการซีดร่วมด้วย
อาการแทรกซ้อน
ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร เช่น ภาวะขาดโปรตีน (เกิดอาการแบบโรคขาดอาหารควาชิวากอร์) , ผมและเล็บเปราะ , ผมร่วง , ภาวะโพแทสเซียมต่ำ , ภาวะแคลเซียมต่ำ เป็นต้น
ร่างกายอาจมีภูมิคุ้มกันลดลง เนื่องจากการสูญเสียอิมมูโนโกลบูลิน (ซึ่งเป็นโปรตีนช่วยต้านทานโรคออกทางปัสสาวะ ทำให้เป็นโรคติดเชื้อง่าย เช่น เป็นฝีพุพอง ปอดอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ กรวยไตอักเสบ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษได้
บางรายอาจเกิดภาวะเลือดแข็งตัวง่าย เนื่องจากร่างกายมีสารกระตุ้นการแข็งตังของเลือดเพิ่มขึ้น แต่สูญเสียสารในการละลายลิ่มเลือด อาจทำให้เกิดภาวะสิ่งหลุด (ลิ่มเลือด) อุดตันหลอดเลือดแดง (ที่ไต ,ที่เท้า,ที่ปอด )
ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีภาวะไตวาย แทรกซ้อน
การรักษา
หากสงสัย ควรแนะนำไปโรงพยาบาล
มักจะวินิจฉัยโดยการตรวจเลือด และปัสสาวะซึ่งจะพบว่าระดับสารไข่ขาวในเลือดต่ำ (hypoalbuminemia ) ระดับโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และมีสารไข่ขาวในปัสสาวะมาก (ในผู้ใหญ่มีมากกว่า 3-5 กรัมต่อวัน)
นอกจากนี้ อาจทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เพื่อหาสาเหตุที่พบร่วม
การรักษา ถ้าตรวจพบสาเหตุ ก็ให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น ให้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียงดยาที่แพ้
ส่วนในรายที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจนมักจะให้สเตอรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน วันละ 16-24 เม็ด หรือขนาดวันละ 1-2 มิลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมสำหรับเด็ก และนัดไปตรวจเลือดและปัสสาวะเป็นประจำ
ถ้าพบว่าสารไข่ขาวในเลือดมีระดับสูงขึ้น และสารไข่ขาวในปัสสาวะลดน้อยลง พร้อมกับอาการบวมลดลง ( น้ำหนักตัวลดลง ) แสดงว่าอาการดีขึ้น ก็จะค่อยๆลดยาลงทีละน้อย อาจให้กินยาอยู่นาน 2-3 เดือน
แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น อาจให้ยาขับปัสสาวะ เช่นฟูโรซีไมด์ วันละ 1-2 เม็ด เพิ่มอีกชนิดหนึ่ง
ถ้าไม่ได้ผล อาจต้องเจาะเนื้อ ไตออกพิสูจน์ ( renal biopsy ) หาสาเหตุและชนิดของโรค และอาจให้ยากดภูมิคุ้มกัน ( immunosuppressive ) เช่น ไซโคลฟอสฟาไมด์ ( cyclophoshamide ) , ไซโคลสปอริน ( cyclosporin ) ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ผลการรักษา ขึ้นกับสาเหตุและชนิดของโรค
ถ้าพบการพิสูจน์ชิ้นเนื้อพบว่าเป็นชนิดเล็กน้อย ( minimal lesion ) ซึ่งเป็นชนิดที่พบมากในเด็ก ก็มักจะหายขาดได้
บางรายเมื่อหยุดยาหลังจากอาการดีขึ้น ก็อาจกำเริบได้ใหม่ในภายหลัง และอาจต้องกินยานาน 6 เดือน-1 ปี ซึ่งในที่สุดก็มักจะหายขาดได้
มีผู้ป่วยบางรายที่เป็นชนิดร้ายแรง อาจรักษาไม่ได้ผลและเกิดภาวะไตวายแทรกซ้อน ถึงตายได้
ข้อแนะนำ
1.โรคนี้จะต้องรักษากันเป็นเวลานาน ควรติดต่อรักษากับแพทย์คนใดคนหนึ่งเป็นประจำ อย่าเปลี่ยนหมอ เปลี่ยนโรงพยาบาลเอง โดยทั่วไปถ้ามีปัญหาในการรักษา แพทย์ที่รักษาอยู่เดิมมักจะมีจดหมายส่งตัวผู้ป่วยไปรักษากับแพทย์ที่มีความชำนาญกว่า
2.ระหว่างการรักษา ควรพักผ่อนให้มากๆงดอาหารเค็มเพื่อลดอาการบวม และกินอาหารพวกโปรตีน ไข่ขาว ) ให้มากๆ (ประมาณ 80-90 กรัมต่อวัน )