คนไทยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 3 ล้าน แต่มาพบแพทย์ไม่ถึงแสน

เป็นที่น่าประหลาด ในช่วงนี้ มีข่าวคนฆ่าตัวตายเพราะซึมเศร้าเยอะติดๆกัน แต่พอมาฟังข่าวอธิบดีกรมสุขภาพจิตมาเผย ก็ไม่เป็นเรื่องแปลกอีกต่อไป เพราะคนไทยจำนวนน้อยมาก ที่เข้าหาจิตแพทย์

วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่กรมสุขภาพจิต นพ.อภิชัย มงคล รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าตามที่มีข่าวการฆ่าตัวตายรายวันนำเสนอในสื่อมวลชน อย่างล่าสุดกรณีนิสิตของจุฬาฯ โดดตึกเสียชีวิต ทำให้ทราบว่า นิสิตคนดังกล่าวเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อนนั้น ขอเรียนว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าประมาณ 5 % หรือ 3 ล้านคน แต่ปัญหาคือในปัจจุบันผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามาพบแพทย์น้อยมากไม่ถึงแสนคน ส่วนอีก 2 ล้านกว่าคนไม่มาพบแพทย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ปัญหาวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจในขณะนี้คงไม่ทำให้คนเกิดโรคซึมเศร้าทันที แต่ปัญหาสุขภาพจิตจะเกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์ไปแล้ว 2 ปี เช่น ไทยมีวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 แต่ก็พบปัญหาสุขภาพจิตในปี 2542-2543 จำนวนมาก ซึ่งเมื่อเป็นโรคซึมเศร้าก็นำมาสู่การฆ่าตัวตาย โดยผู้หญิงมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ชาย แต่ผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิง 3 เท่า อย่างไรก็ตามการที่มีคนฆ่าตัวตาย 1 คน ตามหลักสถิติแสดงว่ามีความพยายามฆ่าตัวตาย 10 คน ดังนั้นแสดงว่า มีประชาชนที่ได้รับความทุกข์ทางจิตใจมากพอสมควร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังต่อไป
นพ.อภิชัย กล่าวด้วยว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากสารซีโรโตนินในสมองลดลง สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยควรไปพบจิตแพทย์ซึ่งต้องกินยาต่อเนื่อง 6 เดือน หรือนานกว่านั้น และควรมาพบจิตแพทย์ทุกครั้ง นอกจากนี้ควรหมั่นออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 วัน ๆ 30 นาที เลือกทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี เช่นฟังเพลง ดูหนัง ทำงานอดิเรกที่ชอบ พูดคุยกับคนที่ไว้ใจ ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ หลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด หรือนอนดึก โดยเฉพาะความเครียดอาจทำให้โรคกำเริบได้
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันยารักษาโรคซึมเศร้า คือ ฟลูออกทีน มีราคาถูกมากเม็ดละ 1 บาท จากเดิม 70-80 บาท แต่กลับพบว่า รพ.อำเภอบางแห่งไม่มียาตัวนี้ ดังนั้นทางกรมสุขภาพจิตจะสำรวจ รพ.ทุกแห่งว่าที่ไหนไม่มีบ้าง เมื่อถามว่า การนำเสนอข่าวฆ่าตัวตายของสื่อมวลชนจะทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเลียนแบบหรือไม่ นพ.อภิชัย กล่าวว่า เนื่องจากสื่อมวลชนนำเสนอถึงสาเหตุของปัญหาว่าการฆ่าตัวตายเพราะเป็นโรคซึมเศร้า โดยไปสัมภาษณ์ญาติผู้ตาย ดังนั้นการฆ่าตัวตายเลียนแบบจะไม่เกิดขี้น แต่ถ้าสื่อมวลชนไม่นำเสนอเบื้องหลังถึงเหตุผลในการฆ่าตัวตาย เช่น บอกเพียงว่าเคยเรียนได้ที่ 1 แล้วตกมาอยู่ที่ 5 ลักษณะนี้อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้

นพ.อภิชัย กล่าวต่อว่า ธนาคารโลกและมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่า ปัญหาโรคซึมเศร้า จะเป็นภาระแก่โลกมนุษย์ในปี 2020 อันดับ 2 รองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นทางกรมสุขภาพจิต ได้ตื่นตัวเตรียมพร้อมรับมือในเรื่องนี้ โดยดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้มีแบบคัดกรองผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วย 2 คำถาม คือ 1. ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คุณรู้สึกไม่สบายใจ ซึมเศร้าหรือท้อแท้หรือไม่ 2.ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คุณรู้สึกเบื่อ ทำอะไร ๆ ก็ไม่เพลิดเพลินหรือไม่ ใครไม่มี 2 ข้อนี้เลยก็แสดงความยินดีกับเขาไว้ว่า ขณะนี้คุณยังไม่มีอาการของโรคซึมเศร้า.
ที่มา นสพ.เดลินิวส์ 10 มิย.2551