เจ็บข้อศอกจากการตีเทนนิสหรือกอล์ฟ (tennis or golfer elbow)

หลายท่านเคยเจ็บบริเวณที่เอ็นเกาะศอกด้านนอก ถ้าเป็นข้างขวา อาจเรียกว่า tennis elbow ที่ข้างซ้าย เรียกว่า golfer elbow เรามาดูวิธีวินิจฉัยและปฏิบัติจากสมาคมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครับ

ที่ยึดเกาะกล้ามเนื้อ ที่กระดูกข้อศอกด้านนอกอักเสบ
(Tennis elbow)

แพทย์หญิงนวพร ชัชวาลพาณิชย์
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล

การอักเสบของที่ยึดเกาะกล้ามเนื้อที่กระดูกข้อศอกพบได้ทั้งด้านนอกและด้านในข้อศอก ทางด้านนอกพบได้บ่อยกว่า ที่ยึดเกาะกล้ามเนื้อที่กระดูกข้อศอกทางด้านนอกอักเสบเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า Tennis elbow เกิดจากมีการอักเสบตรงที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อที่ใช้กระดกข้อมือขึ้น(Extensor muscles of forearm) ซึ่งจะเกาะอยู่รงปุ่มกระดูกทางด้านนอกของข้อศอก ส่วนใหญ่การอักเสบเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อกลุ่มนี้ทำงานซ้ำๆ ทำให้กล้ามเนื้อมีการบาดเจ็บสะสม โดยเฉพาะตรงจุดที่กล้ามเนื้อยึดเกาะกับกระดูก ผู้ป่วยจึงมีอาการเจ็บที่ตำแหน่งดังกล่าว (ดังรูป)

ตำแหน่งที่มีอาการ

อาการและอาการแสดง

ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดเล็กๆ น้อยๆ มานานในบริเวณข้อศอกด้านนอก อาการปวดจะเป็นมากขึ้น เมื่อยกของหรือบิดแขน บางครั้งจะมีอาการปวดร้าวไปบริเวณแขนหรือต้นแขนได้ ผู้ป่วยมีจุดกดเจ็บทางด้านนอกของข้อศอก เมื่อผู้ป่วยคว่ำมือหรือกระดกข้อมืออย่างแรงในขณะเหยียดข้อศอกผู้ป่วยจะเจ็บอย่างมาก แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยได้โดยให้ผู้ป่วยคว่ำมือลงและกระดกข้อมือต้านแรงแพทย์เต็มที่ (ดังรูป) จะพบว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บที่ข้อศอกด้านนอกอย่างมาก

เมื่อผู้ป่วยคว่ำมือลงและกระดกข้อมือต้านแรงแพทย์เต็มที่จะมีอาการเจ็บที่ข้อศอกด้านนอก
การรักษา
1. การรักษาโดยไม่ผ่าตัด
ถ้าผู้ป่วยมีอาการยังไม่มากใช้วิธีการรักษาโดยไม่ผ่าตัดอันประกอบด้วย
การรับประทานยาเพื่อลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น โดยทั่วไปให้รับประทานยาต้าน การอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
การทำกายภาพบำบัดเพื่อลด อาการปวด และบวมของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ได้แก่การวางแผ่นร้อน การทำอัลตราซาวน์เป็นต้น
การใส่อุปกรณ์รัดตรงบริเวณต้นแขน (Tennis elbow cuff) โดยมีจุดประสงค์ให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกข้อมือทำงานลดลง โดยอุปกรณ์นี้จะรัดกล้ามเนื้อที่ต้นแขนไว้ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวได้ไม่เต็มที่ ถึงแม้ผู้ป่วยจะเผลอใช้กล้ามเนื้อนี้กระดกข้อมือแรงๆก็ตาม ทำให้ลดแรงกระชากของกล้ามเนื้อที่จุดยึดเกาะกับกระดูก เป็นการป้องกันไม่ให้มีการบาดเจ็บซ้ำ ช่วยให้การอักเสบไม่เป็นมากขึ้น
การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าตรงบริเวณจุดยึดเกาะของเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อซึ่งจะลดการอักเสบได้ดี แต่
ไม่ควรทำมากกว่า 3-4 ครั้งต่อปี เพราะอาจทำให้เส้นเอ็นขาดได้
2. การรักษาโดยการผ่าตัด ทำในรายที่เป็นมานานๆ และการรักษาโดยไม่ผ่าตัดไม่ได้ผล

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรค
1. หลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องขยับข้อมือขึ้นลงซ้ำ ๆ กระดกข้อมือแรงๆและกำมือแน่นๆ เช่น การบิดผ้าแรงๆ เป็นต้น
2. การประคบกระเป๋าน้ำร้อนบริเวณที่เป็นจะช่วยให้อาการปวดลดลงได้