โรคหิด scabiasis

โรคหิด,scabiasis
โรคหิด (Scabies) เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่เกิดจากตัวหิด ซึ่งเป็นตัวไรเล็ก ๆ สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าเป็นจุดขาวเล็ก ๆ ติดต่อโดยการสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรคหิด หรือการใช้เสื้อผ้า เครื่องใช้ ที่นอนร่วมกัน เนื่องจากตัวเชื้อสามารถมีชีวิตอยู่นอกร่างกายได้ 2-3 วัน
สาเหตุ

โรคหิดเกิดจากการติดเชื้อปาราสิตชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่า Sarcoptes scabiei ซึ่งเชื้อนี้เป็นแมลงเล็กมาก ตัวหิดมีขนาดเล็กกว่าปลายเข็ม จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลเดียวกับตัวไร ขนาดประมาณ 0.4 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นตัวกลมรีๆ และแบนเหมือนเห็บสุนัข ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ตัวอ่อนมี 6 ขา ตัวแก่มี 8 ขา

เชื้อหิดผสมพันธุ์กันบนผิวหนังของคน เมื่อผสมพันธุ์แล้วตัวผู้ก็จะตายไป ส่วนตัวเมียก็จะขุดอุโมงค์วางไข่ต่อไป โดยตัวเมียเจาะอุโมงค์ในชั้นหนังกำพร้า เพื่อใช้วางไข่ ตัวเมียจะฝังตัวใต้ผิวและขึ้นมาวางไข่วันละ 2-3 ฟอง จนกระทั่งถึง 10-25 ฟอง ก็จะตายไป

ตัวอ่อนจะออกจากไข่ในวันที่ 3 หรือ 4 โดยจะคลานออกจากอุโมงค์ เพื่อหาที่อยู่ใหม่ และอาศัยอยู่ในรูขุมขน ทำให้มีตุ่มแดงตรงรูขุมขนและมีอาการคัน ตัวหิดสามารถมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายของคนเราได้ 2-3 วัน ส่วนตัวอ่อนจะโตเต็มที่ในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์

การติดต่อ

โรคนี้จะติดต่อโดยการสัมผัสระหว่างผิวหนังที่เป็นโรคและผิวหนังปกติ การติดต่อมักจะเกิดเมื่อนอนร่วมกันเป็นเวลานาน การร่วมเพศก็มีโอกาสติดเชื้อนี้ ทำให้เกิดตุ่มคันตรงบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ชนิดหนึ่ง ตุ่มคันจะพบก่อนแถว ๆ อวัยวะสืบพันธุ์ เช่น ที่หนังหุ้มองคชาตและอัณฑะ สำหรับผู้หญิงไม่ค่อยพบที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ นอกจากนั้นโรคนี้ยังติดต่อโดยการจับมือ เสื้อผ้า หรือเครื่องใช้ แม้กระทั่งฝาโถส้วมก็สามารถติดต่อได้ เมื่อได้รับเชื้อแล้ว 4-6 สัปดาห์จึงจะเกิดอาการคัน

การแพร่กระจายของหิดคน เกิดจากอยู่ใกล้ชิดหรือใช้ของร่วมกันผู้ป่วยหิด จึงมักพบการระบาดของหิดในคนที่นอนในห้องเดียวกัน คนที่อาศัยในที่แออัดเช่น สถานกักขัง สถานสงเคราะห์เด็กหรือคนชรา โรงเรียน วัด โรคหิดพบได้บ่อยในคนทุกวัย สามารถติดต่อได้ง่าย โดยการสัมผัสหรือใช้ของร่วมกัน หิดไม่แพร่กระจายโดยทางการหายใจ หรือทางอาหาร โรคหิดติดต่อมาได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว หรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกัน หรือมีเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นโรคนี้ก็มีโอกาสติดโรคได้

อาการของโรค

อาการทางผิวหนังจะเริ่มปรากฏ 2 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อเมื่อร่างกายได้รับการกระตุ้นจากโปรตีนในน้ำลายของตัวหิด แล้วเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ขึ้น ผู้ป่วยจะมีตุ่มน้ำใสและตุ่มหนอง คัน เกิดขึ้นกระจายทั้งสองข้างของร่างกาย มักจะพบที่ง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า ข้อมือ ข้อศอก รักแร้ รอบหัวนม รอบสะดือ ก้น ข้อเท้า อวัยวะสืบพันธุ์ ในเด็กเล็กอาจขึ้นที่หน้าและศีรษะ ส่วนในผู้ใหญ่มักไม่ขึ้นในบริเวณนี้ บางรายอาจพบเป็นผื่นนูนแดงคดเคี้ยว ขนาดเท่าเส้นด้าย ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ซึ่งตรงปลายสุดจะเป็นที่อยู่ของตัวหิด บางครั้งอาจเห็นมีรอยเคลื่อนที่ของตัวปาราสิตเป็นรูปตัว s ผู้ป่วยมักจะมีอาการคันมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน อาการคันเกิดจากปฎิกิริยาภูมิไวต่อหิดตัวเมีย ต่อไข่หิด และต่อมูลหิด อาการคันไม่ได้เกิดจากตัวหิดไปรบกวนผิวหนังโดยตรง แต่เกิดจากการแพ้ต่อสารพิษที่ตัวหิดปล่อยทิ้งไว้ในผิวหนัง เมื่อร่างกายมีการต่อต้านก็จะเกิดปฏิกิริยาทำให้เกิดอาการคันขึ้น ยิ่งถ้าเป็นครั้งต่อไป บริเวณที่เคยเป็นและหายแล้ว จะกลับคันขึ้นมาอีกได้ทันที หิดมักจะทำให้เกิดหนองด้วย เพราะการเกาย่อมทำลายผิวหนังและเล็บมักสกปรกมีเชื้อโรค ซึ่งตุ่มหนองพบบ่อยแถวง่ามนิ้วมือ ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบ มีพิษทำให้ไข้ขึ้นสูงอีกด้วย

อาการแทรกซ้อนที่สำคัญ ผู้ป่วยมักเกาจนกลายเป็นแผลพุพอง และถ้าติดเชื้อแบคทีเรีย บีตา-สเตรปโตค็อกคัส อาจเกิดเป็นโรคไตอักเสบได้ นอกจากนี้เด็กบางคนอาจคัน จนนอนไม่พอ กินไม่ได้ และน้ำหนักลด

การวินิจฉัย

หากลักษณะประวัติอาการ แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้แล้ว ยืนยันโดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยการขูดบริเวณรอยโรคที่เป็นอุโมงค์ นำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบตัวหิดหรือไข่

การรักษา ยารักษาหิดมีหลายชนิด ได้แก่

ครีมลินเดน หรือแกมม่าเบ็นซีนเฮ็กซาคลอไรด์ (lindane หรือ gamma benzene hexachloride) เป็นยาที่ได้ผลดีทาทั่วตัว ยกเว้นศีรษะ ทิ้งไว้ประมาณ 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 1-3 วัน และอาจทาซ้ำใน 1 สัปดาห์ถัดมา ไม่ควรใช้ยานี้ในบริเวณผิวหนังที่มีแผล การรักษาในเด็กเล็กต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ครีมเพอร์มีธิน (5% permethrin) ทาตั้งแต่คอลงมาทิ้งไว้ 8 ชั่วโมงแล้วล้างออก
ยาทาชนิดน้ำเบ็นซิลเบ็นโซเอด (12.5 – 25 % benzyl benzoate) ทาทั้งตัวตั้งแต่ระดับคอลงมาทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง
ครีมโครตามิตอน (crotamiton)
ขี้ผึ้งผสมผงกำมะถันเหลือง (6-10% precipitated sulfur)

ยาแต่ละตัวมีประสิทธิภาพในการรักษา และราคาแตกต่างกันไป บางชนิดมีข้อห้ามใช้ในคนบางกลุ่ม มีความสะดวกสบายในการใช้และความน่าใช้ต่างกัน ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีหญิงมีครรภ์ ไม่ควรใช้ยาลินเดน ผู้ป่วยสูงอายุมาก หรือผู้ป่วยที่มีไตผิดปรกติต้องระมัดระวังในการใช้ยา

วิธีทายาฆ่าหิด

ควรทายาหลังอาบน้ำตอนเย็น เช็ดผิวหนังให้แห้งแล้ว ทายาทั่วทุกแห่งของผิวหนัง ยกเว้นบริเวณใบหน้าและศีรษะ
สำหรับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรทาที่หน้าและคอด้วย
ยา benzyl benzoate มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนังและขี้ผึ้งกำมะถัน มีกลิ่นฉุน ไม่ควรทาบริเวณหน้า
สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาคือเทคนิคการทายา เพราะพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่หายขาดเนื่องจากเทคนิคการทายาผิด
วิธีการทายาที่ถูกต้องควรทายาหลังอาบน้ำ ทาเป็นแผ่นฟิล์มบาง ๆ คลุมทุกพื้นที่ของผิวหนังของร่างกายใต้คางลงมาทุกซอกทุกมุม ตามซอกนิ้วมือนิ้วเท้าและใต้เล็บซึ่งบริเวณนี้ควรใช้แปรงสีฟันถูยาใต้แผ่นเล็บเพื่อให้เนื้อยาเข้าถึงทุกจุด แล้วทิ้งยาไว้บนผิวหนังซึ่งในผู้ใหญ่ ควรให้ยาสัมผัสผิวนาน 24 ชั่วโมง ถ้าอาบน้ำก็ให้ทายาหลังอาบน้ำอีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้ยาสัมผัสกับผิวนานตามเวลาที่กำหนด
ในเด็กเล็กแพทย์จะกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมให้ การจะทายาซ้ำอีกกี่วันหรือกี่ครั้งขึ้นกับยาที่ใช้และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยปกติจะทายาหิดติดต่อกันประมาณ 1-3 วัน
ทุกคนที่อยู่ร่วมบ้านและสัมผัสใกล้ชิดไม่ว่าจะมีอาการคันหรือไม่มีอาการคันควรได้รับการรักษาพร้อมกันภายใน 48 ชั่วโมง
สำหรับผู้ที่มีภูมิต้านทานบกพร่องต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังให้เข้าใจก่อนใช้ยา

ที่มา bangkokhealth.com